เมนู

10. สังคีติสูตร



เรื่อง การสังคายนาหลักธรรม



[221] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกในแคว้นมัลละ. พร้อม
ด้วยพระภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูปได้เสด็จถึงนครของพวกมัลล-
กษัตริย์อันมีนามว่า ปาวา. ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวน
มะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตรใกล้นครปาวานั้น.
[222] ก็โดยสมัยนั้นแล ท้องพระโรงหลังใหม่ อันมีนามว่า
อุพภตกะ ของพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สร้างสำเร็จแล้วไม่นาน อัน
สมณพราหมณ์ หรือใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย. พวกเจ้า
มัลละแห่งนครปาวาได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จจาริกใน
แคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึง
นครปาวาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของจุนทกัมมารบุตร ใกล้
นครปาวา. ครั้งนั้นแล พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาได้พากันเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวานั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระ-
โรงหลังใหม่อันมีนามว่า อุพภตกะ ของพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สร้าง
สำเร็จแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์ หรือใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ยังไม่ทันจะ
เข้าอยู่อาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จใช้สอย

ท้องพระโรงนั้นก่อนเถิด ภายหลังพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาจึงจักใช้สอย
ท้องพระโรงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้สอยก่อนแล้ว การเสด็จใช้สอย
ก่อนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ
สุขแก่พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สิ้นกาลนาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ
ด้วยดุษณีภาพแล้วแล. ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้ทราบการ
ทรงรับของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มี
พระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว พาไปยังท้องพระโรง ครั้นแล้วจึงปูลาด
ท้องพระโรงให้พร้อมสรรพ แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน
แล้วพากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี
พระภาคเจ้า ได้ยินอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระโรงอันพวกข้าพระองค์ปูลาด
พร้อมสรรพแล้ว อาสนะก็แต่งตั้งแล้ว หม้อน้ำก็ให้ตั้งไว้แล้ว ประทีป
น้ำมันก็ตามไว้แล้ว พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบกาลอัน
สมควรในบัดนี้เถิด.
[223] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองอันตรวาสก
แล้วทรงถือบาตรจีวรเสด็จไปยังท้องพระโรงพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรง
ล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยังท้องพระโรงประทับนั่งพิงเสากลาง ผิน
พระพักตร์ไปทางทิศบูรพา. ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังท้องพระ
โรงนั่งพิงฝาด้านหลัง ผินหน้าไปทางทิศบูรพาแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า
เเม้พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งพิงฝา
ทางด้านบูรพา ผินหน้าไปทางทิศปัจฉิมแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า. ครั้ง
นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ให้เห็นแจ้ง

ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก
แล้วทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐะทั้งหลาย ราตรีล่วงมากแล้ว
บัดนี้ พวกท่านจงสำคัญกาลอันสมควรเถิด. พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา
ได้พร้อมกันรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า
แล้วพากันลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป.
[224] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นพวกเจ้ามัลละ
แห่งนครปาวาหลีกไปแล้วไม่นาน ทรงเหลียวดูหมู่พระภิกษุผู้นั่งนิ่งแล้ว
ทรงสั่งกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนะและ
มิทธะ. สารีบุตรจงแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อยแล้ว ฉะนั้น
เราพึงพักผ่อน. ท่านพระสารีบุตรได้รับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า ดังนี้. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์
เบื้องขวา ทรงเหลื่อมพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรง
กระทำในพระทัยถึงสัญญาในอันที่จะเสด็จลุกขึ้น.
[225] ก็โดยสมัยนั้นแล นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละแล้วไม่นาน
ที่นครปาวา. เพราะกาลกิริยาของนิครนถ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึง
แตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะ
วิวาทกันขึ้น เสียดแทงกันและกัน ด้วยหอกคือปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้า
ปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ถ้อยคำของท่านไม่เป็น

ประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าว
ภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้า
จับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย
มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าท่านสามารถดังนี้. เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียว
เท่านั้น จะเป็นไปในพวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร. แม้พวกสาวก
ของนิครนถ์นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย
คลายความรักรู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ทั้งนี้
เพราะธรรมวินัยอันนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็น
ธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรม
ที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอัน
ทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่เป็นที่พึ่งอาศัย. ครั้งนั้นแล ท่านพระสารี-
บุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลาย เล่าว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย นิครนถ์นาฏบุตร
ทำกาลแล้วไม่นานที่นครปาวา เพราะกาลกิริยาของนิครนถ์นาฏบุตรนั้น
พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ เป็นธรรมวินัยมีที่พำ
นักอันทำลายเสียแล้วเป็น ธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งอาศัย ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย
ข้อนี้ย่อมเป็นเช่นนั้น ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี
ไม่เป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่
ธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย
ส่วนธรรมนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายตรัสไว้ดีแล้ว
ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ พวกเราทั้งหมดด้วยกัน

ถึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะ
พึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุข
แก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ธรรม
อะไรเล่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดี
แล้ว เป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสัง-
คายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน
ตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก
เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

ว่าด้วยสังคีติหมวด 1



[226] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม 1 อันพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ตรัสไว้
โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่ง
แย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึง
เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความ
อนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย. ธรรม 1 เป็นไฉน. คือ
สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ด้วยอาหาร